10.06.2559

5โรคที่เกิดกับคนใช้คอมพิวเตอร์




     ชาว OSIM THAI เคยถามตัวเองบ้างไหมคะ ว่าในหนึ่งใช้เวลาหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลาทั้งหมดกี่ชั่วโมง ?? บางคนเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ตั้งแต่เริ่มเข้าออฟฟิศตั้งแต่ 8โมงเช้า จนเวลาเลิกงาน รวมๆแล้วก็ประมาน 7-8 ชั่วโมง เมื่อกลับมาถึงบ้านบางคนก็เอางานกลับมาทำ บางคนก็ใช้คอมพิวเตอร์ในการคลายเครียดท่องอินเตอร์ เล่นเกมส์ลากยาวไปจนถึงเที่ยงคืน! นับๆ  ดูแล้วบางคนต้องใช้เวลาหน้าจอคอมพิวเตอร์ถึง 10-11 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว! .....แล้วเคยสังเกตตัวเองบ้างไหมคะว่า เวลาที่เรานั่งใช้คอมพิวเตอร์ไปนานๆ เนี่ย เรามักจะมีอาการปวดไหล่ ปวดคอ และปวดหลัง รวมถึงอาการปวดหัวและปวดตาด้วย! นั่นคือผลของการใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานเกินไปนั่นเอง งั้นเราลองมาทำความรู้จักกับโรคที่จะเกิดขึ้นจากการใช้งานคอมพิวเตอร์และมาหาแนวทางป้องกันไปพร้อมๆ กันดีกว่าคะ

1.โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpel Tunnel Syndrome)


       อาการของโรคนี้คือปวดร้าวบริเวณข้อมือ ฝ่ามือ และนิ้วมือ บางคนอาจมีอาการชา กำมือแน่นๆ ไม่ได้ หยิบจับของแล้วทำร่วงหล่นตลอด สาเหตุของโรคนี้เกิดจากท่าทางการวางมือขณะที่เราจับเมาส์และแป้นคีย์บอร์ดค่ะ ด้วยความเคยชินทำให้สาวๆ หลายคนวางมือในท่า “กระดกข้อมือ” ค้างไว้เวลาใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการข้อมืออักเสบขึ้นได้


วิธีแก้
   ต้องปรับเปลี่ยนท่านั่งและการวางมือเวลาใช้คอมพิวเตอร์ให้ถูกต้อง โดยท่าวางมือที่ถูกต้องขณะใช้คอมพิวเตอร์ก็คือ ต้องวางมือให้ขนานไปกับพื้นโต๊ะ ไม่งอหรือกระดกข้อมือเวลาที่ใช้เม้าส์และแป้นคีย์บอร์ด นอกจากนี้ ไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ควรลุกไปพักบ้างทุกๆ 1 ชั่วโมงเพื่อเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถค่ะ
     แต่ถ้าอาการต่างๆ ยังไม่ทุเลาลง แนะนำว่าควรไปปรึกษาคุณหมอดีกว่า เพราะบางคนอาจต้องรักษาด้วยวิธีการกายภาพบำบัดหรือผ่าตัด ทางที่ดีคือควรรีบสังเกตอาการของตัวเอง และไม่ควรนิ่งนอนใจ รีบไปพบคุณหมอจะดีกว่า

2.อาการปวดหลัง (Back Pain)



        อาการปวดหลังมักเกิดจากการนั่งผิดท่าเป็น เวลานาน รวมถึงท่านั่งที่ไม่สบายเวลาใช้คอมพิวเตอร์ หลายคนชอบนั่งไขว่ห้างเวลาใช้คอมพิวเตอร์ รู้รึเปล่าเอ่ยว่า...ท่านั่งไขว่ห้างเนี่ยทำให้ปวดหลังสุดๆ เลย ถ้าไม่อยากปวดหลัง เราต้องเริ่มกันที่ท่านั่งที่ถูกต้องในการใช้คอมพิวเตอร์...

วิธีแก้
ท่านั่งในการใช้คอมพิวเตอร์ที่ถูกต้อง


  • 1.เท้าทั้งสองข้างต้องวางแนบสนิทบนพื้น
  • 2.ไหล่ต้องปล่อยสบาย ไม่ยกไหล่หรือห่อไหล่ขณะใช้คอมพิวเตอร์
  • 3.เวลาใช้คอมพิวเตอร์ต้องไม่ก้มหน้ามากเกินไป ควรอยู่ในระยะ 50-70 องศา
  • 4.ควรลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายทุกๆ 1 ชั่วโมง เพื่อเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถและเป็นการพักสายตา
  • 5.หลังต้องแนบชิดกับพนักพิงเก้าอี้ และนั่งให้เต็มก้น ไม่ควรนั่งแค่ครึ่งเดียวหรือหมิ่นเหม่
  • 6.ปรับระดับความสูงของเก้าอี้ให้พอดีกับระดับโต๊ะคอมพิวเตอร์ ไม่ให้สูงเกินไปหรือเตี้ยเกินไป

3.โรคเกี่ยวกับสายตา (Computer Vision Syndrome)


เวลาที่เราต้องจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ มีใครมีอาการตาพร่าหรือปวดตาบ้างมั้ยคะ?? อาการปวดตาเวลาที่ใช้คอมพิวเตอร์นานเกินไป บางคนอาจมีอาการน้ำตาไหล ปวดศีรษะ และตาแดงร่วมด้วย นั่นแสดงให้เห็นว่าเราใช้คอมพิวเตอร์นานเกินไป! จริงๆ แล้ว เราควรพักสายอย่างน้อยทุกๆ หนึ่งชั่วโมงด้วยการนั่งหลับตาซักพัก หรือลุกไปเข้าห้องน้ำล้างหน้าล้างตาซักสิบนาทีแล้วค่อยกลับมาทำงานต่อ แต่เหนือสิ่งอื่นใด การจัดท่านั่งและระยะการมองหน้าจอคอมพิวเตอร์คือสิ่งที่สำคัญที่สุด
วิธีแก้  ใช้คอมพิวเตอร์อย่างไรไม่ให้ปวดตา ??
  • 1.ปรับแสงหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้พอดี ไม่จ้าเกินไป
  • 2.ควรนั่งใช้คอมในที่ที่มีแสงสว่างมากพอ บางคนชอบปิดไฟในห้องนอน แล้วเล่นคอมพิวเตอร์ในห้องมืดๆ ทำแบบนี้เสียสายตามากๆ เลย
  • 3.กระพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้มีน้ำมาหล่อเลี้ยงลูกตา ทำให้ไม่เคืองตา
  • 4.อย่าลืมเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เมื่อรู้สึกเคืองตา ปวดตา หรือแสบตา ให้พักสายตาทันที อย่าฝืนทำงานต่อ
  • 5.ตาที่มองหน้าจอคอมพิวเตอร์ต้องห่างจากหน้าจอประมาณ 45-70 เซนติเมตร
  • 6.ปรับขนาดตัวหนังสือบนหน้าจอให้เหมาะสม ไม่เล็กเกินไป เพราะจะทำให้เราต้องเพ่งตามอง และอาจทำให้ปวดตาได้ค่ะ
      ส่วนคนไหนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ อย่าลืมพักสายตาบ่อยๆ ถ้ามีอาการปวดตาร่วมกับปวดหัวด้วย ควรไปตรวจวัดสายตา เพราะสายตาอาจจะสั้นขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัว แต่ถ้าตัดแว่นแล้ว พักสายตาก็แล้ว อาการปวดตายังไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุและรีบทำการรักษา เรามีดวงตาเพียงแค่คู่เดียว เพราะฉะนั้นเราต้องดูแลรักษาดวงตาของเราให้ดีที่สุดนะคะ

4.อาการปวดหัว (Headache Problems)



      อาการปวดหัวมักเกิดขึ้นบ่อยๆ กับคนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ สาเหตุหลักๆ มักเกิดจากความเครียด การมองหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน แสงหน้าจอคอมพิวเตอร์สว่างมากเกินไป รวมถึงการพักผ่อนไม่เพียงพอ ล้วนแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวขึ้นได้ทั้งสิ้น ถ้าเราจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ เราต้องมีวิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการปวดหัว

วิธีแก้
  • 1.อาการปวดหัวส่วนมากมักเกิดจากปัญหาอาการปวดตาเวลาใช้คอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้นเราต้องเริ่มจากการดูแลดวงตาของเราก่อน อย่าลืมปรับแสงหน้าจอให้สว่างพอเหมาะ อย่าเพ่ง/จ้องหน้าจอนานเกินไป ปรับตัวหนังสือให้มีขนาดพอดี พักสายตาบ้างเมื่อดวงตาอ่อนล้า
  • 2.อย่าอดนอน บางคนต้องทำการบ้านตอนกลางคืน กว่าจะรู้ตัวเวลาก็ล่วงเลยเข้าสู่วันใหม่เสียแล้ว แบ่งเวลาดีๆ ถ้าได้การบ้านมา ต้องรีบทำ อย่าหมักดองไว้ มิเช่นนั้นต้องมาโหมทำทีเดียวจนไม่มีเวลาได้พักผ่อนน้า การพักผ่อนไม่เพียงพอก็ทำให้ปวดหัวได้เช่นกัน
  • 3.บางคนเล่นคอมพิวเตอร์จนเพลินไม่ยอมกินข้าวกินปลา นั่งเพลินไม่ยอมลุกไปเข้าห้องน้ำ ไม่ยอมดื่มน้ำเนี่ย เป็นการทำร้ายร่างกายสุดๆ เลยค่ะ ดีไม่ดีจะเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบแถมมาด้วยนะ
  • 4.ความเครียดก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวเหมือนกัน ยิ่งช่วงใกล้สอบทำให้ต้องรีบเคลียร์งาน และการบ้านที่ได้รับมอบหมายมาทั้งเทอมแข่งกับเวลา อาจทำให้เกิดความเครียด รวมถึงสภาวะที่กดดันต่างๆ บวกกับการต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ก็ทำให้ปวดหัวได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นอย่าลืมแบ่งเวลาดีๆ ค่อยๆ เคลียร์การบ้าน อย่าโหมทำคืนเดียว ไม่งั้นล่ะก็..ร่างกายจะรับไม่ไหว....

5.โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)


   นอกจากปัญหาของความเครียดและอาการปวดหัวแล้ว ปัญหาการนอนไม่หลับจากการใช้คอมพิวเตอร์ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่หลายคนเป็นอยู่แต่อาจจะไม่รู้ตัว มีการวิจัยแล้วพบว่าความสว่างของหน้าจอมีผลต่อการนอนไม่หลับด้วย! จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่การใช้คอมพิวเตอร์ แต่รวมถึงการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตต่างๆ อีกด้วย

     เมลาโทนิน (Melatonin) คือฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมการนอนหลับและเวลาตื่นของมนุษย์ จากการศึกษาของนักวิจัยพบว่าการที่เราสัมผัสกับแสงของหน้าจอ คอมพิวเตอร์/โทรศัพท์ต่างๆ ทำให้จำนวนของเมลาโทนินลดลง นอกจากนี้การใช้คอมพิวเตอร์ในช่วงกลางคืนยังทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว และยังทำให้นาฬิกาชีวิตเปลี่ยนแปลงด้วยค่ะ นี่คือสาเหตุที่ทำให้เรานอนไม่หลับนั่นเอง!
หลายๆคนอาจ ปิดไฟ เตรียมนอน หยิบโทรศัพท์ แล้วก็จิ้มๆ กดๆ ไปอีกครึ่งชั่วโมงกว่าจะได้นอน แถมโดนคุณแม่ดุอีก  รู้หรือไม่ว่าถ้าเราพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้ร่างกายอ่อนล้า โดยเฉพาะคนที่อยู่ในช่วงของวัยเรียน จะทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียนหนังสือ รู้สึกเหนื่อยง่าย แถมยังทำให้หน้าตาโทรมด้วยนะ ทางที่ดีคือพยายามอย่าเล่นคอมพิวเตอร์จนถึงเวลาดึกมากๆ และอย่าลืมลิมิตเวลาในการใช้คอมพิวเตอร์ของตัวเองกันด้วย ถ้านอนไม่หลับจริงๆ ลองหาหนังสือมาอ่าน.....

       การใช้คอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้จริงๆ สำหรับยุคสมัยนี้ การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทุกวันทั้งวัน ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เราก็ต้องหาทางดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีที่สุด อย่าลืมสังเกตอาการไม่สบายต่างๆ ของตัวเองกันด้วยนะ....ที่สำคัญคือต้องลิมิตเวลาการใช้คอมพิวเตอร์ของตัวเองโดยเฉพาะ คนที่ยังอยู่ในช่วงของวัยเรียนหนังสือ บางคนติดเกม ติด facebook จนไม่ยอมหลับยอมนอนกันเลยทีเดียว แบบนี้ก็ไม่ไหวเหมือนกันนะ....สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง.... เราต้องรีบดูแลตัวเอง ก่อนที่จะสายเกินไป วันนี้ต้องไปก่อนละน้า....เจอกันใหม่ครั้งหน้า....บ๊ายบายยยย :)





ที่มา : http://www.dek-d.com

และขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล

10.03.2559

ปวดคอแบบไหน..สื่ออันตราย !!


       เนื่องจากในยุคปัจจุบันมนุษย์เรามีพฤติกรรมใช้งานคอและหลังแบบผิดๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ ส่งผลให้หมอนรองกระดูกเสื่อมแล้ว อายุที่มากขึ้นก็เป็นสาเหตุของหมอนรองกระดูกเสื่อมเช่นกัน เพราะภาวะนี้เป็นการเสื่อมตามธรรมชาติ เมื่ออายุเกิน 30 ปี โปรตีนที่อยู่ในเจลซึ่งอยู่ข้างในหมอนรองกระดูก รวมถึงวงแหวนรอบนอกจะเริ่มเสื่อม อีกทั้งยังสูญเสียความยืดหยุ่นและคุณสมบัติการรับแรงกระแทก ทำให้เวลาขยับตัว กระแทก หรือใช้งานมากๆ จะทำให้วงแหวนที่อยู่รอบๆ เจลดังกล่าว ซึ่งทำหน้าที่ยึดระหว่างข้อต่อแต่ละข้อเปื่อยยุ่ยและฉีกขาดในที่สุด จนเนื้อของหมอนรองกระดูกเกิดการเคลื่อนไปข้างหลัง เบียดอวัยวะสำคัญที่คอ คือ ไขสันหลังที่ต่อมาจากสมอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย หรือเส้นประสาท ถ้าหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือเคลื่อน จนทำให้ความแข็งแรงในการยึดกันของข้อกระดูกสันหลังลดลง ร่างกายจะพยายามสร้างหินปูน หรือสร้างเนื้อเยื่อโดยรอบข้อต่อให้หนาตัวมากยิ่งขึ้น จะยิ่งทำให้มีการกดทับช่องไขสันหลังมากขึ้น


      
       ซึ่งระยะแรกอาจแยกไม่ออกว่าอาการปวดคอนั้น เป็นอาการปวดทั่วๆ ไป หรือปวดเพราะหมอนรองกระดูกเสื่อม แต่สามารถสังเกตได้โดย ถ้าเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อจะมีอาการเมื่อใช้งาน พอได้พักอาการจะดีขึ้น แต่กรณีที่เป็นหมอนรองกระดูกเสื่อม แม้จะพักผ่อนแล้วอาการไม่ค่อยจะดีขึ้น ยังคงปวดต่อเนื่อง



   
   อาการปวดคอแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

      1.กลุ่มที่มีอาการปวดคออย่างเดียว ปวดมาถึงบ่าและสะบัก 
         กลุ่มนี้ถึงแม้จะรักษาค่อนข้างง่าย แต่ก็เป็นอันตรายหรือภัยเงียบด้วยเช่นกัน เพราะผู้ป่วยคิดว่าไม่อันตรายจึงไม่มาพบแพทย์ แต่ความจริงแล้วควรมาพบแพทย์เพื่อแยกว่าเป็น Office Syndrome หรือหมอนรองกระดูกเสื่อม



       
       2.กลุ่มที่ปวดเพราะมีการกดทับเส้นประสาท 

          มีอาการแสดง คือ ปวดร้าวลงแขนไปจนถึงมือร่วมกับอาการชา รายที่เป็นมากๆ อาจมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย เช่น ยกไหลไม่ขึ้น ขยับนิ้ว หรือกระดกข้อมือไม่ขึ้น นอกจากนี้ หากมีการกดทับเส้นประสาทที่ทำงานเกี่ยวข้องกับส่วนใด จะส่งผลให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นลีบลงด้วย บางครั้งอาจลีบถาวร ถึงแม้จะทำการผ่าตัดแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้เมื่อทำการรักษาโอกาสหายมีมากกว่ากลุ่มที่หมอนรองกระดูกเสื่อมที่ไปกดทับไขสันหลัง 



      3.กลุ่มที่ปวดเพราะมีการกดทับไขสันหลัง 
         กลุ่มนี้จะมีอาการแสดงที่ไม่ชัดเจน ทำให้กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวก็มักจะเป็นมากแล้ว ผู้ป่วยอาจมีประวัติปวดคอเรื้อรัง ร่วมกับปวดลงแขนหรือลงขา หรือมีอาการชาร่วมด้วย ไปจนถึงมีอาการอ่อนแรง หรือกล้ามเนื้อบางส่วนเจ็บ กล้ามเนื้อมือลีบ หยิบจับของเล็กๆ หรือใช้มือทำงานที่ละเอียด เช่น กลัดกระดุม ผูกเชือกรองเท้าไม่ถนัด ตลอดจนมีอาการของการเดินเซ สูญเสียการทรงตัวที่ดีไป อาจมีอาการจนถึงขั้นควบคุมระบบการขับถ่ายได้ลำบาก
       


       ในอดีตกลุ่มที่ปวดเพราะมีการกดทับไขสันหลัง จะทำการรักษาค่อนข้างลำบากและมีความเสี่ยงสูง เพราะระยะห่างระหว่างไขสันหลังกับหมอนรองกระดูก หรือหมอนรองกระดูกกับเส้นประสาทห่างกันประมาณ 1 มิลลิเมตร หรือไม่ถึงมิลลิเมตร 
แต่สมัยนี้มีเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ทันสมัย มีการนำเครื่องมือที่ดีมาช่วยในการผ่าตัดให้มีความแม่นยำและมีความปลอดภัยสูงขึ้น โดยใช้กล้องขยายที่เรียกว่า "ไมโครสโคป” (Spine microscope) หลักการเหมือนกล้องจุลทรรศ์ที่นักเรียนใช้ดูจุลินทรีย์ในห้องทดลอง เป็นการส่องอนุภาคเล็กๆ ให้ขยายใหญ่ขึ้น ทำให้มองเห็นชัดเจน นำมาสู่ความแม่นยำ และปลอดภัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัด ส่วนผลการผ่าตัดถ้าแก้ไขตรงจุดหรือไม่ปล่อยจนอาการเลวร้ายจนเกินไป ผลการผ่าตัดจะดี อาการปวด อาการชาจะหายไป และกล้ามเนื้อที่เคยอ่อนแรงจะค่อยๆ ฟื้นฟูกลับมา.

       สำหรับวิธีป้องกัน และบรรเทาอาการปวดคอนั้น ควรทำกายบริหารโดยพยายามออกกำลังกล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบคอให้แข็งแรงขึ้น เนื่องจากในชีวิตประจำวัน คนส่วนใหญ่แทบจะไม่ได้ขยับกล้ามเนื้อบริเวณคอเลย สามารถบริหารกล้ามเนื้อคอได้โดยการยืดและการเกร็งกล้ามเนื้อ ดังนี้
       
       1.การยืดกล้ามเนื้อ ก้มให้คางชิดอกค้างไว้ นับ10 วินาที แล้วเงยหน้าขึ้นในทิศทางตรงข้ามค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นก็ทำเช่นเดียวกันแต่ให้หันหน้าและเอียงศีรษะไปในทิศทางซ้ายและขวา ค้างไว้ข้างละ 10 วินาที เพื่อเป็นการยืดกล้ามเนื้อและข้อต่อให้มีการเคลื่อนไหว
       
       2.การเกร็งกล้ามเนื้อ เพื่อเสริมความแข็งแรงและความทนทานให้กล้ามเนื้อคอ ด้วยการเอามือดันศีรษะไว้ในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ขณะเดียวกัน ก็พยายามเกร็งคอเพื่อต้านแรงดันจากมือที่ดันศีรษะไว้ ให้ทำทุกทิศทางทั้งดันขมับด้านซ้ายและขวา หน้าผาก และท้ายทอย การทำเช่นนี้จะช่วยให้คอได้ออกกำลังกาย 




ที่มา : ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี