11.15.2559

ท่าบริหารสะกดอาการปวดคอ บ่า ไหล่





ท่าบริหารลดอาการปวดคอ บ่า ไหล่

         เรียนเชิญเหล่ามนุษย์ออฟฟิศทั้งหลายมาเล่นโยคะด้วยท่าบริหารคอและไหล่กัน ด้วย 8 ท่วงท่าง่ายๆ เหล่านี้       

        อุปกรณ์ : เราต้องมีบล็อกสำหรับโยคะ หรือจะใช้หมอนสี่เหลี่ยมแทนก็ได้ (แต่ถ้าคิดจะเล่นโยคะเป็นกิจวัตร แนะนำว่าให้ซื้อ ราคาขั้นต่ำประมาณ 200-500 บาทคะ)



ท่าที่ 1  นำบล็อกมาวางส่วนหลังและศีรษะ จากนั้นค่อยๆ เอนตัวลงตามภาพ ปล่อยแขนลงตามสบาย ท่านี้จะช่วยผ่อนคลายอาการปวดหลัง            


ท่าที่ 2 วางบล็อกในแนวตั้ง กะระยะห่างให้เท่ากับความกว้างของลำตัว นั่งแล้วเอนตัวไปด้านหน้า ใช้ศอกยันกับบล้อก ท่านี้จะช่วยในการยืดไหล่




ท่าที่ 3 ปรับบล็อกให้ห่างออกไปจนสุดแขน และบล็อกอีกชิ้นหนึ่งในหนุนศีรษะ



ท่าที่ 4 นั่งขัดสมาธิ ยืดหลังตรง นำบล็อกมารองเข่าทั้งสองข้าง จากนั้นออกแรงดึงศรีษะลงมาที่ไหล่จนเรารู้สึกได้ถึงแรงตึงบริเวณสะบักหลัง




ท่าที่ 5 ท่านี้ช่วยบริเวณไหล่และหน้าอก ซึ่งให้เรานั่งชันเข่าลงบนบล็อก แล้วดึงมือไขว้หลังตามภาพ มันจะเป็นท่าที่ยากและปวดสักหน่อย ซึ่งควรจะค่อยๆ ทำ


ท่าที่ 6 – 8 เป็นท่าบริหารช่วงคอ ไหล่ และสะบักหลัง โดยทำแต่ละท่าค้างไว้ และหายใจช้าๆ
5-7 ครั้ง




 ที่มา:SpokedarkTV.




11.08.2559

ปวดตึงบริเวณคอและไหล่อย่าคิดว่ามันเรื่องเล็กนะคะ



ปวดตึงบริเวณคอและไหล่อย่าคิดว่ามันเรื่องเล็กนะคะ !! 

          ชาวออฟฟิศทั้งหลาย ถ้าคุณนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์มานานหลายปีแล้วคงต้องมีอาการปวดคอ ปวดไหล่กันบ้างล่ะ ซึ่งหลายคนก็ใช้วิธีหาครีมมานวดเพื่อจะได้รู้สึกผ่อนคลายหายปวด แต่คุณหมอเขาบอกมาว่า อาการปวดตึง ปวดไหล่ ถ้าเกิดขึ้นเป็นประจำก็ไม่ใช่เรื่องเล็กเลยนะ มีคำถามที่ว่า..

          "นั่งทำงานจนดึก ก่อนนอนรู้สึกปวดตึงที่คอและไหล่มาก ๆ เป็นเพราะอะไร แล้วจะมีความเสี่ยงต่อโรคอื่น ๆ อีกรึเปล่าคะ จะมีวิธีหลีกเลี่ยงอาการนี้ได้อย่างไร" 


          ลองมาฟังคำตอบจาก นพ.สมบูรณ์ รุ่งพรชัย ที่ปรึกษาฝ่ายการแพทย์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กันเลย

          สำหรับกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อออฟฟิศซินโดรม เมื่อก่อนพบมากในกลุ่มคนวัยทำงานทั้งเพศชายและหญิง ช่วงอายุ 20-30 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบในกลุ่มคนช่วงอายุตั้งแต่ 15 ปีเป็นต้นไป ซึ่งได้แก่ กลุ่มนักเรียนและนักศึกษาที่มีพฤติกรรมไม่ค่อยออกกำลังกาย และมีไลฟ์สไตล์แบบเดิมซ้ำ ๆ เช่น อ่านหนังสือ นั่งเรียน หรือใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ เฉลี่ย 2-6 ชั่วโมง/วัน 

          หลายคนอาจจะชะล่าใจว่าอาการที่พบเบื้องต้น เช่น การปวดตึงที่คอ บ่าและไหล่ การปวดหลัง หรือปวดศีรษะ เป็นอาการที่ไม่ได้ร้ายแรงมาก แต่อาการเบื้องต้นเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เช่น โรคนอนไม่หลับ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคเซ็กส์เสื่อม โรคข้อและกล้ามเนื้ออักเสบ รวมถึงปัญหาด้านฮอร์โมนต่าง ๆ

          อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันและบำบัดอาการออฟฟิศซินโดรมง่าย ๆ เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำเดิม ๆ และออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น บริหารคอด้วยการก้มเงยและหมุนคอ ยืดกล้ามเนื้อบริเวณไหล่ ท่าละ 5-10 ครั้ง 10-30 วินาที ประมาณวันละ 2 รอบ เพื่อให้ร่างกายได้มีการเคลื่อนไหว ไม่เป็นแหล่งบ่มเพาะอาการออฟฟิศซินโดรมต่อไปในอนาคตนะคะ


ขอบคุณที่มา : นิตยสาร LISA.

10.10.2559

อาการปวดตามร่างกายเกิดขึ้นเพราะอะไร?



        ทุกวันนี้เราต่างใช้ร่างกายหนัก ทั้งจากการทำงานและกิจกรรมตามไลฟ์สไตล์ที่ต่างกัน บางครั้งทำให้เรามีอาการเจ็บปวดตามจุดต่างๆ ในร่างกายโดยไม่รู้สาเหตุ และปล่อยผ่านไปโดยที่คิดว่าคงไม่เป็นอะไรมาก แต่นั่นอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่เราอาจคาดไม่ถึง นายแพทย์กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ มีข้อมูลที่น่าสนใจมาฝาก โดยเฉพาะอาการปวด 10 จุด ต่อไปนี้
    


     เจ็บต้นคอจนร้าวแขน หากเจ็บบริเวณนี้ ต้องระวังเส้นประสาทต้นคอ เพราะอาจถูกกดหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้น หรือจากการยกของหนักที่ผ่านมาได้ 

     เจ็บแขนร้าวถึงปลายมือ ควรระวังเรื่องเส้นประสาทให้ดี เพราะมีสิทธิ์เกิดจากพังผืดไปรัดเส้นประสาท หรืออาจเกิดจากศูนย์รวมประสาทที่ต้นคอ


     ปวดศีรษะร้าวที่ต้นคอ อาจเป็นเพียงอาการกล้ามเนื้อที่เกร็งตึงเวลาเครียด ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามีอาการตาพร่ามัว บวกคลื่นไส้อาเจียนด้วย ต้องระวังอาการด้านสมองเป็นพิเศษ

     ปวดหลังร้าวลงขา อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทเป็นหลัก โดยเฉพาะหลังส่วนบั้นเอว ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ วิธีสังเกตดูว่าปวดหลังถึงขั้นไหน ให้ดูที่อาการร้าวลงขา

     เจ็บอกจนวิ่งไปแขนซ้าย ร้ายเสียยิ่งกว่าอกหักเพราะมักเกี่ยวถึงโรคหัวใจขาดเลือด ให้สังเกตอาการปวดว่าเหมือนถูกบีบหรือถูกงูเหลือมตัวใหญ่รัดด้วยหรือไม่


     ไอจามแล้วปวดร้าวลงก้นกบ บางคนเวลาไอ จาม หรือเบ่งท้องแรงๆ แล้วมีอาการเจ็บร้าวไปถึงหลังหรือก้นกบเบื้องล่างทุกครั้ง ต้องเฝ้าระวังโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นให้ดีๆ 

     เจ็บท้องน้อยร้าวลงหน้าขา ในกลุ่มสตรีต้องระวังเรื่องอุ้งเชิงกรานอักเสบเป็นพิเศษ ส่วนหนุ่มๆ ให้ระวังนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ถ้ามีไข้ร่วมด้วยให้ระวังการติดเชื้อเป็นหลัก

     เจ็บท้องส่วนอื่นๆ จนร้าวทะลุหลัง อาการเจ็บด้านหน้าไปหลังแบบนี้ ถ้าเป็นที่ตับ คือด้านบนขวาให้ระวังเรื่องถุงน้ำดี เพราะนี่เป็นสัญญาณอาการนิ่วในถุงน้ำดีหรือถุงน้ำดีอักเสบ ส่วนถ้าเจ็บตรงกลางร่วมกับมีไข้สูงให้ระวังตับอ่อนอักเสบ (Acute pancreatitis) แบบเฉียบพลัน


     เจ็บบั้นเอวแถวสีข้างร้าวลงขา ถ้าเจ็บบั้นเอวด้านใดด้านหนึ่งแล้วร้าวด้วย ให้นึกถึงอาการก้อนนิ่วในกรวยไตหรือท่อไต บางรายอาจมีท่อปัสสาวะอักเสบร่วมกับมีไข้ จะรู้สึกหนาวและปัสสาวะปนเลือดอีก หากเป็นเช่นนี้แนะนำให้รีบไปตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์หรืออัลตร้าซาวน์

     สุดท้าย เจ็บตามผื่นแล้วร้าวลงเส้นประสาท การที่มีผื่นเป็นตุ่มน้ำใสแล้วมีอาการแสบร้อน หรือเคยมีประวัติโรคเริม งูสวัด ให้ระวังอาการปวดร้าวไปตามปลายประสาท แม้ไม่มีผื่นแล้วก็อาจทิ้งอาการแสบร้อนไว้ได้ บางรายเจ็บแสบอยู่ตามแนวเส้นประสาทเป็นครั้งคราว

      ทั้งนี้ คุณหมอกฤษดา ย้ำว่า สัญญาณเจ็บร้าวทั้งสิบที่ว่ามาเป็นวิธีดูคร่าวๆ เท่านั้น แต่ก็ช่วยทำให้ได้ร่องรอยของโรคที่ซ่อนอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม อาการเจ็บปวดตามร่างกายที่เกิดขึ้น วิธีที่ดีและปลอดภัยที่สุด คือ รีบไปพบแพทย์แล้วตรวจหาความผิดปกติให้ทราบชัดเจนดีกว่า

                                                                                                                                          ที่มา:Sanook.com